บริษัท ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

บทความ

รวบรวมบทความเกี่ยวกับระบบดับเพลิงและระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้

การวิเคราะห์ปัญหาระบบดับเพลิงอัตโนมัติด้วยสารสะอาดที่ทำงานผิดปกติด้วยผังก้างปลา

Posted: 23/08/2021



   ปัญหาของระบบดับเพลิงอัตโนมัติที่ทำงานผิดปกติด้วยแผนผังก้างปลา โดยมีปัจจัยหลัก 4 ปัจจัย คือ

         1. ผู้ปฏิบัติงาน ไม่มีความเข้าใจในการตรวจสอบบำรุงรักษาและไม่มีคู่มือการปฏิบัติงานที่ใช้ในการตรวจสอบ เมื่อระบบดับเพลิงเกิดปัญหาจึงไม่สามารถตรวจสอบวิเคราะห์ปัญหาได้ในเบื้องต้น
         2. อุปกรณ์ของระบบ ขาดการตรวจสอบดูแลบำรุงรักษาที่ต่อเนื่องทำให้ระบบเกิดการทำงานผิดพลาดได้ เมื่ออุปกรณ์ชำรุดหรือสายสัญญาณขาด หลุดและหลวม บางครั้งสัญญาณในระบบขาด ๆ หาย ๆ ทำให้ระบบทำงานเองโดยไม่ทราบสาเหตุ
        3. วิธีการดำเนินงาน จากการขาดแผนการบำรุงรักษาและแผนการอบรมใช้งานที่ต่อเนื่อง ทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่มีความรู้ความเข้าใจในการตรวจสอบบำรุงรักษาเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุได้
        4. สภาพแวดล้อม พื้นที่การติดตั้งอุปกรณ์และตู้ควบคุมอยู่ภายนอกห้องระบบไฟฟ้าและเป็นบริเวณที่มีความชื้นจากละอองน้ำ คราบสกปรก เมื่อกระเด็นเข้าตู้ควบคุมและอุปกรณ์หรือมีความชื้นคราบสกปรกสะสม ทำให้อุปกรณ์เสียหาย ระบบเกิดการทำงานผิดพลาดได้

             จากภาพแผนผังก้างปลา ผลการวิเคราะห์ปัญหาระบบดับเพลิงอัติโนมัติด้วยสารสะอาดทำงานผิดพลาดหรือระบบผิดปกติ ปรากฏว่า ผู้ปฏิบัติงานขาดคู่มือการปฏิบัติงานตรวจสอบ อุปกรณ์ในระบบมีคราบฝุ่นและเสื่อมสภาพ ขาดแผนการดำเนินงาน เช่น แผนการบำรุงรักษา แผนการอบรม สภาพแวดล้อมพื้นที่ติดตั้งตู้ควบคุมมีความชื้นและละอองน้ำ อันเนื่องจากขาดการตรวจสอบ บำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยการ จัดทำพัฒนาคู่มือการปฏิบัติงานตรวจสอบ พัฒนาแผนการดำเนินงานให้มีความถี่ในการตรวจสอบ บำรุงรักษา ให้มีการอบรมต่อเนื่อง และปรังปรุงแก้ไขระบบดับเพลิง เช่น ใส่ตู้กันน้ำ ตรวจสอบเปลี่ยนอุปกรณ์ที่เสียหายพร้อมกับทดสอบระบบ

                                                             ผลการวิเคราะห์ปัญหา
             การวิเคราะห์ปัญหาและการแก้ไขปัญหา โดยดูปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาและจัดการเลือกแก้ไขปัญหาที่เป็นสาเหตุหลักก่อนดังตาราง ปัจจัยของปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหา ต่อไปนี้

ตาราง ปัจจัยของปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหา

ปัจจัยที่เกิดปัญหา สาเหตุ แนวทางแก้ไขปัญหา
ผู้ปฏิบัติงาน
 
1.ขาดความเข้าใจในการใช้อุปกรณ์และการทำงาน
2.พนักงานที่ปฏิบัติงานกับผู้ดูแลบำรุงรักษาคนละคน
3.บุคลากรที่ดูแลบำรุงรักษาไม่เพียงพอ
4.ขาดการอบรมการใช้งานอย่างต่อเนื่อง
1.จัดทำคู่มือการใช้งานที่ง่ายต่อการปฏิบัติงาน
2.อบรมการใช้งานกับทุกคนที่ปฏิบัติในพื้นที่เกี่ยวข้อง
3.ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยดูแลบำรุงรักษา
4.ให้มีการอบรมใช้งานอย่างต่อเนื่อง
อุปกรณ์ในระบบ 1.เสื่อมสภาพการใช้งานก่อนกำหนดเนื่องจากตัวอุปกรณ์เองหรือสภาพการติดตั้งชำรุด
2.ตู้ควบคุมไม่ทำงานหรือสั่งให้อุปกรณ์ในระบบทำงานเองโดยไม่มีเหตุเพลิงไหม้
1.เปลี่ยนอุปกรณ์และเพิ่มความถี่ในการบำรุงรักษา
2.ตรวจสอบทำความสะอาดตู้ ,ตรวจเช็คสายสัญญาณอาจหลวมหรือชำรุด, ทำการตรวจเช็คทดสอบการทำงาน
วิธีการดำเนินงาน 1.ไม่มีคู่มือหรือคู่มือการใช้งานซับซ้อนยุ่งยากต่อการปฏิบัติ
2.ไม่มีแผนการบำรุงรักษาและ Check list
3. ขาดงบประมาณในการดูแลบำรุงรักษา                                  
1.จัดทำคู่มือการใช้งานที่ดูง่ายต่อการปฏิบัติงาน
2.จัดทำแผนการบำรุงรักษาและ Check list
3. ขอความร่วมมือผู้ค้าขาย คู่ค้าให้มีการอบรมการใช้งาน
สภาพแวดล้อม 1.พื้นที่เสี่ยงต่อความชื้นและฝุ่น
2.มดและแมลงอื่น ๆ เข้าตู้ควบคุม
3.มีการปรับปรุงพื้นที่ทำให้ระบบขัดข้อง
1.มีอุปกรณ์ตู้กันความชื้นและฝุ่น หรือเพิ่มความถี่การบำรุงรักษาพื้นทีที่มีความชื้นและฝุ่น
2.หมั่นตรวจสอบและทำความสะอาดตู้ควบคุม
3.ทำการแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเพื่อทำการปิดระบบชั่วคราว

แนวทางในการพัฒนาปรับปรุงแก้ไข
       จากตาราง ปัจจัยของปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดทำแนวทางการปรับปรุงและจัดทำแผนการตรวจสอบและบำรุงรักษาโดยมีรายละเอียดดังนี้
      1. ดำเนินการแก้ไขตู้ควบคุมระบบดับเพลิงและอุปกรณ์
               การติดตั้งตู้ควบคุมระบบดับเพลิงอัตโนมัติภายนอกห้องควบคุมเครื่องจักรในพื้นที่ที่มีความชื้นจากละอองน้ำที่เกิดจากการล้างพื้นและล้างคราบสกปรกของตัวเครื่องจักร เมื่อละอองน้ำเข้าตู้ควบคุมทำให้ระบบทำงานผิดพลาด โดยทำการใส่ตู้กันน้ำและแก้ไขตรวจสอบสายสัญญาณที่อาจหลุดหลวมหรือชำรุด
      2. พัฒนาคู่มือการปฏิบัติงานตรวจสอบบำรุงรักษา
                เพื่อให้คู่มือการปฏิบัติงานมีความเข้าใจง่ายต่อการนำไปใช้งานและจัดทำป้ายแสดงวิธีใช้งานเบื้องต้นติดที่หน้าตู้ควบคุมดังแสดงในภาพ 1 ดังนั้นเพื่อให้การตรวจสอบ บำรุงรักษามีประสิทธิภาพและป้องกันการผิดพลาดในการปฏิบัติงานจึงต้องพัฒนาคู่มือปฏิบัติงานที่สามารถนำไปใช้และเข้าใจได้มากยิ่งขึ้น
      3. จัดทำแผนการตรวจสอบบำรุงรักษาและแผนการอบรมใช้งานพร้อมใบตรวจสอบ
 (Check List)
               3.1 แผนการตรวจสอบด้วยตาเปล่า (Visual Check) โดยให้มีความถี่ในการตรวจสอบทุก 30 วัน เพื่อตรวจดูสภาพความพร้อมในการใช้งานของระบบดับเพลิงอัตโนมัติโดยมีแผนกบำรุงรักษาเป็นผู้ปฏิบัติงานตรวจสอบและบันทึกลงในใบตรวจสอบ
              3.2 แผนการทดสอบการทำงานและบำรุงรักษา (Function Test & Maintenance) โดยให้มีความถี่ในการตรวจสอบทุก 6 เดือนหรือ 2 ครั้งต่อ 1 ปี ทดสอบการทำงานของระบบดับเพลิงอัตโนมัติ ตรวจเช็คการทำงานของอุปกรณ์ในการตรวจจับและการแจ้งเตือน การสั่งฉีดสารพร้อมทำการบำรุงรักษาระบบให้สภาพพร้อมใช้งานได้ต่อเนื่องโดยมีแผนกบำรุงรักษาเป็นผู้ปฏิบัติงานตรวจสอบและบันทึกลงในใบตรวจสอบ
              3.3 แผนการอบรม โดยให้มีความถี่ในการอบรมทุก 6 เดือนหรือ 2 ครั้งต่อ 1 ปี แบ่งเป็นการอบรมคู่มือการปฏิบัติงานตรวจสอบ การอบรมการทำงานของระบบดับเพลิงอัตโนมัติ
          ทั้งนี้แนวทางการปฏิบัติงานดังกล่าวสอดคล้องตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ. 2552  ได้กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องตรวจสอบ ทดสอบ และบำรุงรักษาระบบและอุปกรณ์สำหรับการป้องกันและระงับอัคคีภัยให้สามารถพร้อมทำงานได้ตลอดเวลาพร้อมจัดทำแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงานประกอบด้วยแผนการตรวจสอบความปลอดภัยด้านอัคคีภัย แผนการอบรมเรื่องการป้องกันและระงับอัคคีภัย รวมทั้งมาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท. 3002) กำหนดว่าให้มีการตรวจสอบและการบำรุงรักษาของระบบให้มีความพร้อมในการใช้งานได้ตลอดเวลา โดยการตรวจสอบอุปกรณ์ในระบบด้วยตาเปล่าทุก 30 วัน และอย่างน้อยทุก 1 ปี ต้องมีการตรวจสอบการทำงานของระบบและอุปกรณ์ประกอบทั้งหมดในการตรวจสอบ
    

  

  • แชร์บทความนี้